คืบหน้า ไฟไหม้รถไฟฟ้ารางเบา LRT (แทรม) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ล่าสุด มทร.วิทยาเขตอีสาน แถลงสาเหตุ คาดเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ รอผลตรวจยืนยัน จาก พฐ.ประมาณ 1เดือน มูลค่าความเสียหาย 84 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาแก้ไขปรับปรุงประมาณ 9-12 เดือน มั่นใจไม่กระทบโครงการที่จะนำมาทดสอบวิ่งรอบบึงแก่นนคร
จากกรณีเมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 30 มิ.ย.2567 เจ้าหน้าที่ รปภ.ของบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ตรวจพบกลุ่มควันไฟและประกายไฟออกมาจากตู้รถไฟฟ้ารางเบา LRT (แทรม) ในตู้ที่ 2 ก่อนจะแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ซึ่งไฟได้ลุกไหม้ตู้รถไฟฟ้ารางเบาไป 2 ใน 3 ตู้ เหลือแต่โครง ส่วนโบกี้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาควบคุมเพลิงประมาณ 1 ชั่วโมง โดยทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และทีมวิศวกรของทางบริษัท ช.ทวี และทีมวิศวกรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้เข้าร่วมตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 1 ก.ค.2567 อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วย อาจารย์ บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฯ,ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.ไพรวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ชี้แจงกรณีเหตุเกิดเพลิงไหม้ รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น ภายในบริษัท ช.ทวี ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทตรวจพบกลุ่มควันและประกายไฟขึ้นบนตู้รถไฟฟ้ารางเบา เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. วันที่ 30 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา
โดยจากการตรวจสอบของทางทีมวิศวกร มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้ คาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องรอผลยืนยันการตรวจพิสูจน์หลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4 อีกครั้ง โดยระยะเวลาวิเคราะห์พยานหลักฐานคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขณะที่ความเสียหายจากการประเมินในเบื้องตัน เกิดขึ้นกับตู้โดยสารภายนอกและภายใน รวมทั้งระบบขับเคลื่อน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 70% หรือ 84 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาการแก้ไข ปรับปรุง ประมาณ 9-12 เดือน แต่มั่นใจไม่กระทบกับโครงการที่จะนำรถไฟดังกล่าวมาทดสอบวิ่งรอบบึงแก่นนคร
โดยรถไฟฟ้ารางเบา เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในกาคอุตสาหกรรม ภายใต้
แผนพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุกด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยโครงการระยะที่ 1 ใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2563-2565 งบประมาณ 90 ล้านบาท และ โครงการระยะที่ 2 ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2565-2566 งบประมาณ 33 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 123 ล้านบาท
ทั้งนี้การออกแบบและการประกอบชิ้นส่วน ผู้วิจัยและทีมงานทุกคนออกแบบและประกอบชิ้นส่วนทุกอย่างตามมาตรฐานของยุโรป อุปกรณ์ทุกชิ้นที่นำมาใช้งานได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รูปแบบการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ภายในรถ ประกอบและติดตั้งถูกต้องตามรูปแบบวิธีการมาตรฐาน
ขณะที่ ดร.ไพรวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา เปิดเผยการคาดการณ์สาเหตุภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ พฐ.4 และทีมวิศวกรของบริษัท ช.ทวีคาดว่า ต้นเพลิงอยู่ที่ตู้แรก เป็นตู้ที่ไม่มีแบตเตอรี่ โดยจะมีตู้แยกสายหรือคอนโทรลบ็อกซ์ ซึ่งกระแสไฟฟ้าระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ซึ่งอยู่ที่ตู้ที่ 2 ได้ลัดวงจร ทำให้ตู้แยกสายคอนโทรลบ็อกซ์เกิดประกายไฟลุกไหม้ภายในตู้แรกช่วงท้ายและลุกลามมาในตู้ที่สองกระทั่งลุกลามไหม้ทั้งภายนอกและภายในทั้งหมด ส่วนตู้ที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหาย และยังโชคดีที่โบกี้ไม่ได้รับความเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้จะต้องรอผลสรุปสาเหตุจากทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานก่อน แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ไปสู่การพัฒนาระบบและตัวรถไฟฟ้ารางเบาให้มีความปลอดภัยมากที่สุดต่อไป////////
Leave a Response