ชลประทานเร่งระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ รับมือฝนหนัก

qoute

ชลประทานเร่งระบายน้ำจากเขื่อนหลักในภาคอีสาน เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำรองรับฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ยังรับน้ำได้อีกมาก ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ การพร่องน้ำช่วยเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตรที่กำลังทำนาและเก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลาก

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 17 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางดึกของเมื่อคืนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทำให้หลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมขังและน้ำรอระบาย โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่นยังคงมีน้ำท่วมขังในหลายจุดแต่ระดับน้ำได้ลดลงทำให้การสัญจรไปมาในช่วงเช้าของวันนี้ยังคงดำเนินการได้อย่างคล่องตัว ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของทางจังหวัดและเทศบาลนครขอนแก่น ขณะที่กำลัง อส.,ฝ่ายปกครองและเทศบาลฯ ยังคงประจำในพื้นที่จุดเสี่ยง เช่น ถ.มะลิวัลย์เส้นทางขาเข้าตัวเมืองขอนแก่น ช่วงแยก ร.8 จนถึง ม.ขอนแก่น,ช่วง ถ.กสิกรทุ่งสร้างและเส้นทางรอบบึงหนองโคตร รวมไปถึง ช่วงสามแยกโนนทัน ตัด ต.พระลับ และ ตาม แนว ถ.ศรีจัทร์ ตั้งแต่ รพ.ขอนแก่น ไปจนถึงสามแยกหนองใหญ่ที่เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันตลอด 24 ชม. ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ล่าสุดวันนี้มีน้ำไหลลงอ่างอยู่ที่ 21.30 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออก 15 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,688 ล้าน ลบ.ม.

นายวัลลพ กรรณิการ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 6 (ขอนแก่น) กล่าวว่า จากภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ ชป.6 ต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและลุ่มน้ำต่างๆในพื้นที่เพื่อเตรียมรับกับมวลน้ำที่มาจากพายุฝนในขณะนี้และตลอดทั้งช่วงฤดูฝน ซึ่งได้เร่งทยอยพร่องน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น,เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โดยให้สามารถที่จะรองรับปริมาณน้ำได้อีก 3,851 ล้าน ลบ.ม. แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องจับตาช่วงฝนตกหนักคือช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. ที่จะถึงนี้ว่าจะมีปริมาณน้ำมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในระยะนี้การพร่องน้ำนอกจากจะเป็นการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงตามเส้นทางน้ำแล้ว ยังคงเป็นการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทาน เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรได้มีการทำนาปีและการเกษตรต่างๆ แล้วกว่า 95%

“ในปีนี้จะเห็นได้ว่าพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานที่มีอยู่กว่า 2.47 ล้านไร่ มีการทำการเกษตรโดยเฉพาะนาปีมากถึงร้อยละ 95% ซึ่งนอกจากปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ประกอบกับการจัดสรรน้ำในเขตชลประทานจะทำให้เกษตรกรสามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนถึงฤดูน้ำหลาก แต่ถึงอย่างไรการพร่องน้ำในเขื่อนหลักขนาดใหญ่ 3 แห่งจะเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก รวมถึงการเร่งพร่องน้ำตามแนวแม่น้ำชี เพื่อไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงตามเส้นทางของน้ำ ซึ่งแม่น้ำชีตอนบนและกลาง คือที่ชัยภูมิ-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด จะพร่องน้ำลงอีกกว่า ร้อยละ 60 ขณะที่ช่วง จ.ยโสธรและอุบลราชธานี จะพร่องน้ำประมาณร้อยละ 40 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนการพร่องน้ำที่มากแต่ระดับน้ำก็ยังต่ำกว่าตลิ่งอีกประมาณ 7-8 เมตร”

นายวัลลภ กล่าวต่ออีกว่า ชลประทานที่ 6 ยังคงต้องจับตาพายุจร หรือพายุที่จะพาดผ่านเข้ามาในระยะนี้ต่อเนื่องถึงช่วงฤดูฝนและกลุ่มพายุหมุนที่จะเข้าประเทศไทยที่อาจจะขึ้นฝั่งเริ่มต้นจากอุบลราชธานี และพาดผ่านมาตามเส้นทางยโสธร-มหาสารคาม-ขอนแก่น และไปชนปะทะกับแนวเทือกเขาที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งหากพายุหมุนมาตามแนวนี้ก็จะเติมน้ำทั้งขาและขากลับ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่างมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นมวลน้ำที่ไหลลงเก็บในอ่างในระยะนี้ จากพายุฝนที่ตกลงมา จะเข้าไปเติมน้ำในเขื่อนต่างๆให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำรองรับฤดูฝนไปจนถึงเดือน ต.ค.

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง