มข.จับมือ สธ. พาหมอไปหาประชาชน คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีทั้งอำเภอ เดินหน้าค้นพบแต่ต้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

IMG_0169

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 ส.ค. 2567 รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มข.ได้นำทีมแพทย์และบุคลากรลงพื้นที่ให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพและให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการกับกระทรวงสาธารณสุขในการยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุข พร้อมเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ตามโครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ที่ศูนย์ประชุมอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น โดยทีมแพทย์และบุคลากรจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ลงพื้นที่ให้บริการตรวจสุขภาพฟรี และให้ความรู้ คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดีและโรคอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในภาคอีสาน ตามภารกิจแห่งความมุ่งมั่นของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีในการส่งเสริมการตรวจคัดกรองและยกระดับการป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นพบผู้ป่วย และจะได้รับการรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก โดยมีผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิตและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

“การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี มีประชาชนให้ความสนใจเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วย OV ATK Kit จำนวน 302 ราย พบมีการติดพยาธิใบไม้ตับจำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 3.31 และเข้ารับการตรวจคัดกรองอัลตราซาวด์มะเร็งจำนวน 288 ราย พบสงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี 4 คน คิดเป็นร้อยละ 1.38 และส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อด้วยโรคอื่น ๆ อีก 20 คน”

รศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า จากการลงพื้นที่ให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มข. ในครั้งนี้ นอกจากจะตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก อันจะส่งผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิต ยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัยฯ โดยเฉพาะนโยบาย SDG 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเน้นการรับประกันว่าทุกคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในทุกวัย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ SDG 10: ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีและยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง