ภาคประชาชนค้านแนวคิดร่วมจ่าย 30 บาท ย้ำเป็นรัฐสวัสดิการ

IMG_2322

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นหลังจากมีการพูดถึงการให้มีการร่วมจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ในการใช้บริการที่โรงพยาบาลของรัฐ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุนและขาดสภาพคล่องจากการเบิกจ่ายของภาครัฐ

นางมีนา ดวงราษี คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ภาคประชาชนยืนยันสู้เต็มที่ หากมีการร่วมจ่ายจริง เพราะนโยบายนี้เป็นรัฐสวัสดิการที่ควรจัดให้ทุกคนในประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าวที่ทำประโยชน์ให้ประเทศ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นยังสามารถควบคุมได้ เนื่องจาก สปสช. มีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการธนาคารบริหารอยู่

นางมีนา ดวงราษี

“ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการเก็บ 30 บาท เพราะทำตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ แต่ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการพูดชัดเจนว่ากลัวประชาชนลืมว่านโยบายนี้มาจากพรรคเพื่อไทย จึงมีการเก็บ 30 บาท ซึ่งแท้จริงแล้ว เจตนาคือการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้มีการออกระเบียบว่าคนกลุ่มใดไม่ต้องร่วมจ่าย เช่น เด็ก พระภิกษุ และ อสม. แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยบริการกลับยืนยันว่าการเก็บ 30 บาทมีความจำเป็นเพื่อใช้พัฒนาโรงพยาบาล” นางมีนากล่าว

นางมีนา กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการพูดถึงเรื่องการร่วมจ่ายอย่างมาก แต่ควรพิจารณาต้นเหตุของปัญหาคือระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเฉพาะการปล่อยให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนและขายหุ้น ทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดการ จนเรื่องของการร่วมจ่ายถูกมองเป็นเรื่องทางการเมืองและความเข้าใจผิด

“เรื่องนี้มีความซับซ้อนตั้งแต่การออก พ.ร.บ. การร่วมจ่ายสุขภาพ และมีการอ้างถึงมาตรา 41 ซึ่งจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์ว่า การร่วมจ่ายทำให้ระบบมั่นคงขึ้น ประชาชนหลายคนเห็นว่าการร่วมจ่ายเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตามงบประมาณด้านสุขภาพในประเทศไทยยังคงน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อปีเพียง 4-5 พันล้านบาท” นางมีนาสรุป

ขณะที่นายศตคุณ คนไว แกนนำเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยที่ทุกคนจะต้องมาร่วมจ่าย แม้กระทั่งการร่วมจ่าย 30 บาท เพราะชาวบ้านแต่ละคนการเดินทางไปหาหมอในอำเภอหรือในจังหวัดก็ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถ้าจะมาร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกอาจจะทำให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยหลุดจากระบบไปเหมือนช่วงก่อนหน้าที่จะมี พรบ. นี้เกิดขึ้น 

และตอนนี้มีประเด็นที่ รพ.ต่างๆ ออกมาบอกว่าขาดทุน อาจจะต้องมองลงไปในเชิงลึกว่าขาดทุนด้วยสาเหตุอะไร อาจมีหลายปัจจัย อาจจะค่ายา ค่าอุปกรณ์ ค่าจ้างพนักงาน ต้องมองเป็นจุดๆ ตอนนี้ในภาคประชาชนไม่มีการนัดคุยกันแต่เชิงกระบวนการมีการสื่อสารกันว่าประเด็นนี้กำลังนำกลับมาพูดถึงแต่ยังไม่มีท่าทีจะตอบกลับแต่อย่างใด 

“ล่าสุดจะมีชมรมแพทย์ชนบทที่ออกมาพูดถึงเรื่องการร่วมจ่ายชัดเจนว่าปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาที่เรื้อรังถ้ารัฐบาลไม่มาช่วยจัดการอย่างเช่นการสนับสนุนงบประมาณแน่นอนว่าสังคมของประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและคนจะเริ่มเจ็บป่วยมากขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งถ้าหากรัฐบาลมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นใน 2-3 ปี ต้องมีการตั้งงบประมาณขึ้นมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย”

#ร่วมจ่าย30บาท #หลักประกันสุขภาพ #โรงพยาบาลรัฐขาดทุน #เมืองนนท์ #นโยบายรัฐสวัสดิการ

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง