🩺 ผื่นอักเสบจากแมลงก้นกระดก
🔥 ระบาดช่วงปลายฝน พบนอกร่มผ้า
💊 แนะปฐมพยาบาล ลดการเกา
🚫 ห้ามบี้แมลง ลดโอกาสสัมผัสพิษ
🌙 ควรปิดไฟ ลดการดึงดูดแมลงเข้าบ้าน
#แมลงก้นกระดก #ผื่นผิวหนัง #สถาบันโรคผิวหนัง #ภัยสุขภาพ #ป้องกันตาบอด
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชนช่วงปลายฝนให้ระวังโรคผิวหนังจากการสัมผัสแมลงก้นกระดก หลังพบผู้ป่วยอาการผื่นผิวหนังอักเสบเพิ่มขึ้นจากการถูกพิษแมลง โดยเฉพาะบริเวณนอกร่มผ้า ลักษณะอาการเริ่มจากผื่นแดงหรือรอยไหม้ หากโดนพิษมากหรือมีอาการแพ้รุนแรง อาจมีไข้สูงและมีอาการทางระบบหายใจ และหากสัมผัสที่ตาอาจทำให้ตาบอดได้
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ด้วงก้นกระดกพบมากในช่วงปลายฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่นาข้าวและเกษตรกรรม สถาบันโรคผิวหนังพบผู้ป่วยมากในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ส่วนใหญ่จะมีผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสกับสารพิษในตัวแมลง ซึ่งอาจเกิดจากการปัดหรือบี้แมลงโดยไม่รู้ตัว สารพิษจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดงหรือรอยไหม้ที่มีรูปร่างยาวตามรอยการปาดมือ อาการจะปรากฏประมาณ 8-12 ชั่วโมงหลังสัมผัส
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผื่นอักเสบจากด้วงก้นกระดกมักมีขอบเขตชัดเจน ในช่วง 2-3 วันจะมีตุ่มน้ำและตุ่มหนองขนาดเล็ก อาการคันมีไม่มาก แต่มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย หากพิษสัมผัสบริเวณดวงตา จะทำให้ตาบวมแดงและเสี่ยงตาบอดได้ โดยเฉพาะผื่นที่เกิดบนใบหน้า รอบดวงตา หรือบริเวณผิวอ่อนจะมีอาการรุนแรงมากกว่าผิวส่วนอื่น ส่วนอาการอักเสบเหล่านี้มักหายภายใน 1-2 สัปดาห์ ยกเว้นในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือรับพิษมาก
สำหรับการปฐมพยาบาลหากสัมผัสแมลงก้นกระดก ควรล้างผิวด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ ห้ามเกาบริเวณที่เป็นผื่นเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ ส่วนการป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลง หากพบแมลงบนร่างกายให้ใช้วิธีเป่าออก หรือใช้เทปกาวใสแปะเพื่อเอาแมลงออกไป แนะนำให้ปัดที่นอนและผ้าห่มก่อนนอน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และเปิดไฟเฉพาะที่จำเป็นเพื่อลดการดึงดูดแมลง
Leave a Response