🦖 พบฟอสซิลไดโนเสาร์ 3 สายพันธุ์ อายุ 110 ล้านปี แห่งใหม่ที่อ.มัญจาคีรี

IMG_8520

📍 แหล่งค้นพบใหม่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

💡 ความฝันนำทางสู่การค้นพบครั้งสำคัญ

🛠 ทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือสำรวจ

🪵 ไม้กลายเป็นหินโบราณอายุ 7 แสนปี

🌱 ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์

พร้อมเป็นแลนด์มาร์กใหม่ หลังพบฟอสซิลไดโนเสาร์ถึง 3 สายพันธุ์ อายุ 110-100 ล้านปี ในพื้นที่ชาวบ้าน เจ้าของที่เล่าความฝันว่าขี่คอไดโนเสาร์ก่อนจะมาพบกระดูกและแจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีมาตรวจสอบ และพื้นที่ติดต่อกันพบไม้กลายเป็นหินอายุ 9-7 แสนปี พระอาจารย์นำมาต่อยอดอนุรักษ์สอดแทรกธรรมะ และยังพบซากสัตว์นานาชนิดและพรรณไม้ร่วมสมัยที่สภาพสมบูรณ์หลายประเภท

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 14 ธ.ค. 2567 ที่สวนเกษตรไร่ตามา พื้นที่บ้านห้วยหินเกิ้ง ม.11 ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น ได้เข้ามากางเต็นท์เพื่อขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นางแน่น พรหมรินทร์ อายุ 56 ปี ชาวบ้านห้วยหินเกิ้ง ม.11 ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เจ้าของสวนเกษตรไร่ตามา ซึ่งเป็นการขุดต่อจากครั้งแรกที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นส่วนของซี่โครงตระกูลซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว และพบฟันของไดโนเสาร์กลุ่มกินเนื้อหรือเทอโรพอด และไดโนเสาร์ประเภทปากนกแก้ว รวม 3 สายพันธุ์ในบริเวณนี้ ตั้งแต่ปี 2548

นางแน่น พรหมรินทร์ เจ้าของที่

นางแน่น เปิดเผยว่า ช่วงที่ตนเองไปทำงานอยู่ที่ จ.นครปฐม ฝันเห็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่คอยาว และได้ขี่คอไดโนเสาร์ตัวที่มีแผงหลัง และในความฝันยังเห็นไดโนเสาร์ที่เป็นเต่าอีก 1 ตัว ลักษณะมีแผงหลังเช่นเดียวกัน โดยไดโนเสาร์ได้ไปรับตนเองจากนครปฐมไปเที่ยวที่ดอยอินทนนท์ หลังจากนั้นตนเองกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านในที่ดินแปลงนี้ ที่เป็นที่ สปก.จำนวน 42 ไร่ ตนและครอบครัว ทำนาและทำสวนเกษตร เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี 2512 กระทั่งปี 2548 พระอาจารย์สุบิน ขันติธโร เจ้าอาวาสวัดสวนป่าสมถะสายชลมัญจาคีรี บ้านห้วยหินเกิ้ง เดินหาหินที่บริเวณหินหร่อง เพื่อจะนำหินไปสร้างกุฏิวัด มาพบกระดูกสันหลัง 1 ข้อ ตอนนั้นพระอาจารย์สุบินคิดว่าเป็นกระดูกสันหลังช้าง จึงเก็บไปทำวัตถุมงคล และได้เล่าสู่พระมงคล สุนทโร พระวัดบ้านหนองแปนฟัง ส่วนตนเองก็ได้เล่าความฝันให้ฟังแต่ไม่กล้าบอกว่าเป็นไดโนเสาร์ ก็บอกไปว่าฝันเห็นช้างเช่นกัน ต่อมาพระสุนทรและพระอาจารย์สุบินจึงพากันมาตรวจสอบที่หินหร่องอีกครั้ง มีความเห็นว่า ไม่น่าจะใช่กระดูกสันหลังของช้าง แต่อาจจะเป็นกระดูกไดโนเสาร์ โดยในช่วงปลายปี 2549 พระสุนทร ส่งภาพและส่งเรื่องไปยังกรมทรัพยากรธรณีให้มาตรวจสอบ กระทั่งในปี 2550 กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งนักวิชาการลงพื้นที่มาดูและขุดเปิดหลุมบริเวณหินหร่อง พบกระดูกซี่โครงและฟัน ของไดโนเสาร์กินพืช ตัวใหญ่ คอยาว พร้อมทั้งเก็บชิ้นส่วนที่พบไปเก็บรักษาไว้ จากนั้นก็มีการขุดมาเรื่อยจนถึงปี 2554 จึงได้หยุดการขุด และมาเริ่มขุดอีกครั้งในวันนี้

นางแน่น เปิดเผยอีกว่า ตนเองได้ยกที่ดินในพื้นที่หินหร่องจุดนี้ให้ทางราชการ ในการขุดหาซากไดโนเสาร์ไปเรียบร้อยแล้ว และในเดือนธันวาคม 2567 ก็มีนางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี พร้อมทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาขุดอีกครั้ง โดยส่วนตัวไม่หวงห้ามหากจะมีการขุดค้นในพื้นที่ที่ดินของตัวเอง เพราะถือว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน แล้วยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เยาวชนเข้ามาชม มาดูหาความรู้ได้ตลอด และในอนาคตเชื่อว่าจะสามารถกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งความรู้แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับชาว อ.มัญจาคีรี และจังหวัดขอนแก่นด้วย

นางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ

ขณะเดียวกัน นางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี กำลังร่วมกับนักวิจัยขุดหินเพื่อหาชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ จากประเทศญี่ปุ่นกำลังเดินสำรวจภายในวัดสมถะสวนป่าสายชล ซึ่งตั้งอยู่ช่วงทางเข้ามายังสวนเกษตรไร่ตามาของนางแน่นประมาณ 300 เมตร ซึ่งภายในวัดทางพระอาจารย์สุบิน ขันติธโร เจ้าอาวาสวัด ได้นำไม้กลายเป็นหินอายุ 9-7 แสนปี มาทำเป็นรูปปั้น รูปหล่อสอดแทรกธรรมะ ทั้งพระพุทธรูป พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โดยเฉพาะพระนอนที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าทางเข้าซึ่งมีขนาดใหญ่ โดยลายของพระนอนนั้นเป็นการก่อไม้กลายเป็นหินและหล่อปูนทั้งหมด ซึ่งเป็นอันซีนอีกแห่งที่หลายคนไม่เคยเห็น

โดย นางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่าจุดที่กำลังขุดนั้น เคยมีนักวิจัยมาทำการขุดสำรวจหาชิ้นส่วนของไดโนเสาร์แล้วเมื่อปี 2550-2554 แต่ก็ต้องหยุดไป เพราะทีมวิจัยต้องไปศึกษาที่ต่างประเทศ อีกทั้งขณะนั้นขาดแคลนงบประมาณการทำวิจัย จึงหยุดขุดไป แต่ในปัจจุบัน มีทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ต้องการศึกษาค้นคว้าในประเทศไทย จึงร่วมมือกันกลับมาขุดที่หลุมเดิมที่หินหร่องแห่งนี้ โดยการสำรวจในครั้งนี้เป็นการสำรวจต่อเนื่องจากเดิมซึ่งก่อนหน้านี้มีการขุดพบกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช และมีชิ้นส่วนของฟันของไดโนเสาร์กินเนื้ออยู่ 2 จำพวก และไดโนเสาร์ปากนกแก้ว รวมถึงสัตว์ร่วมสมัยพวกหอย โดยพบอย่างหลากหลายในบริเวณนี้ในหลายจุดด้วยกัน ซึ่งจากการขุดสำรวจในครั้งนี้มีการพบโครงกระดูกต่อเนื่องจากเดิมที่มีโผล่ขึ้นมาในตอนแรก ซึ่งทางทีมนักวิจัยคิดว่าเป็นกระดูกหน้าแข้ง แต่จากการขุดสำรวจกลับพบว่าเป็นซี่โครง เพราะเป็นสันเฉยๆ ซึ่งเมื่อเปิดหลุมมากขึ้นจึงพบว่าเป็นส่วนหัวของซี่โครงซึ่งมีหัว 2 ด้าน ซึ่งคิดว่าจะต่อเนื่องยาว แต่ปรากฏว่ากระดูกไม่สุด ได้มาเพียงสั้นๆ ยังไม่เป็นกระดูกที่สมบูรณ์ และเจอฟันของสัตว์กินเนื้อเพิ่มเติม รวมถึงพบซากดึกดำบรรพ์หอยในบริเวณใกล้เคียงที่เจอ รวมถึงมีเกล็ดปลาและเศษกระดองเต่า ซึ่งเป็นสัตว์ร่วมสมัยของไดโนเสาร์ยุคนั้นอยู่แล้ว โดยมีอายุอยู่ประมาณ 100-110 ล้านปี โดยทางธรณีวิทยาเรียกว่าหมวดหินโคกกรวด อยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น รวมถึงอยู่ในยุคมหายุคมีโซโซอิกอยู่ช่วงปลาย ซึ่งไม่ได้ปลายสุด แต่ว่าเป็นยุคปลายของไดโนเสาร์ ซึ่งยุคของไดโนเสาร์มีอยู่ 3 ยุคคือ ไทรแอสซิก ต่อด้วยจูราสสิก และที่พบนี้อยู่ครีเทเชียส ซึ่งเป็นช่วงครีเทเชียสตอนต้น ซึ่งทางบ้านเรายังไม่เจอตอนปลาย ซึ่งมักจะพบทางจีนและทางยุโรป

การค้นพบครั้งนี้จะมีประโยชน์ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ซึ่งในบริเวณนี้จะเจออยู่ 3 ช่วงสมัย 3 ช่วงเวลา ถ้านับมาถึงปัจจุบัน คือเจอในช่วง 100-110 ล้านปีคือช่วงไดโนเสาร์ ซึ่งมีการพบเจอซากไดโนเสาร์ในบริเวณนี้ อีกช่วงหนึ่งคือยุคน้ำแข็งไพลสโตซีน ถ้าเทียบในหนังก็ยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ซึ่งของบ้านเราจะเห็นชั้นกรวดโดยทั่วไป เห็นไม้กลายเป็นหิน อายุประมาณ 9-7 แสนปี ซึ่งจะพบเจอในบริเวณสวนป่าทั่วไป โซนลุ่มน้ำมูลน้ำชีโบราณ ซึ่งจะเจอในหลายจังหวัดด้วยกัน เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และหลายที่ซึ่งคือชั้นกรวด ซึ่งเป็นสมัยที่ 2 จากนั้นก็จะเป็นชั้นพืชพันธุ์ซึ่งจะมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์สมัยปัจจุบัน เวลานำมาเชื่อมโยงเป็นองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้เยาวชนและผู้สนใจ จึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิต โดยวัดแห่งนี้มีพระอาจารย์สุบิน ซึ่งร่วมค้นพบและอนุรักษ์แหล่งไม้กลายเป็นหิน โดยมีการสร้างพระพุทธรูปและแฝงด้วยปริศนาธรรม มีการสอดแทรกความรู้ธรรมะ โดยทางนักวิชาการด้านบรรพชีวินก็ได้เข้ามาศึกษาพันธุ์ไม้โบราณ โดยในอนาคตจะมีการทำป้ายสื่อสารความรู้ โดยจะมีแหล่งความรู้จุดไดโนเสาร์ แหล่งหอยบริเวณจุดหน้าวัด ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่มีความสมบูรณ์ของหอยที่พบ ซึ่งเรียกหอย 2 ฝา

นางสาวศศอร ขันสุภา กล่าวอีกว่า การทำงานของทีมนักวิจัยนั้นขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนจริง ก็อยากให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณบ้าง เพราะการขุดและทำวิจัยในเรื่องซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลนั้นจริงๆ แล้ว สามารถต่อยอดได้ ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษาเข้ามาหาความรู้และยังเป็นจุดขายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย.

?
Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง