⚠️ ม.ขอนแก่นพัฒนา “KKU Emergency Alert” แจ้งเตือนแผ่นดินไหวผ่าน Google Chat ครอบคลุม 2,000 กม. แจ้งเตือนทันทีใน 1 นาที

IMG_6546

Key Point:

🛰️ แจ้งเตือนแผ่นดินไหวได้แม่นยำถึง 2,000 กม.

📱 ใช้ Google Chat ส่งสัญญาณเตือนบุคลากร-นศ.

🕒 ตรวจสอบข้อมูลแผ่นดินไหวทุก 1 นาที

📊 ตั้งค่าแจ้งเตือนเบื้องต้นที่ 4.5 แมกนิจูด

🏢 ใช้ Google Workspace เชื่อมต่อคนใน มข. กว่า 50,000 คน

📡 ดึงข้อมูลจาก USGS และกรมอุตุนิยมวิทยา

📌 ใช้ Telegram/Google Chat แยกแจ้งเตือนจากช่องทางทั่วไป

👨‍🏫 ผศ.ดร.เด่นพงษ์ เผยแนวคิดจากเหตุการณ์ในเมียนมา

💬 บุคลากร มข. รู้สึกอุ่นใจหลังได้รับการแจ้งเตือน

🌍 ระบบมีศักยภาพขยายใช้กับประชาชนทั่วไป

🗓️ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 เม.ย. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยแรงสั่นสะเทือนบางส่วนรับรู้ได้ถึงประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะภายในอาคารสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากร

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มข.ได้พัฒนาระบบ “KKU Emergency Alert” บนแพลตฟอร์ม Google Chat ภายใต้ระบบอัจฉริยะ KKU IntelSphere เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวในรัศมีไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร ครอบคลุมนักศึกษาและบุคลากรกว่า 50,000 คน โดยระบบนี้ดึงข้อมูลจาก U.S. Geological Survey (USGS) และกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย เพื่อตรวจจับและประมวลผลทุก 1 นาที หากตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด จะมีการแจ้งเตือนโดยทันที

ระบบ KKU Emergency Alert แบ่งระดับการแจ้งเตือนเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 1 ซึ่งไม่ส่งผลกระทบ จนถึงระดับ 5 ที่ถือว่ารุนแรง โดยข้อความที่ส่งออกไปจะมีคำแนะนำการรับมืออย่างเหมาะสมแนบไปด้วย เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 แมกนิจูดในเมียนมา ผู้ใช้จะได้รับข้อมูลว่าไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ขอนแก่น แต่สามารถแจ้งเตือนญาติหรือเครือข่ายอื่นได้ทันเวลา

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ไฟไหม้ พายุ หรือกราดยิง แม้พื้นที่ภาคอีสานยังไม่เคยเผชิญแผ่นดินไหวรุนแรง แต่ความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน บุคลากร และนักศึกษาก็มีสูง จึงเป็นเหตุผลให้ มข. พัฒนาระบบแจ้งเตือนดังกล่าวขึ้น โดยเลือกใช้ Google Chat และ Telegram แทน Line ซึ่งมักใช้สื่อสารทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน

Google Workspace ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในมหาวิทยาลัย ทำให้ระบบแจ้งเตือนสามารถเข้าถึงนักศึกษา 40,000 คน และบุคลากรอีกกว่า 10,000 คนได้อย่างครอบคลุม ทุกคนมี user อยู่ในระบบอยู่แล้ว จึงง่ายต่อการส่งข้อความโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม

สำหรับการตั้งค่าเบื้องต้น ระบบจะเริ่มแจ้งเตือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาด 4.5 แมกนิจูดขึ้นไป และมีแผนจะปรับเกณฑ์ขึ้นเป็น 6.5 แมกนิจูดในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกเกินควร พร้อมกับประเมินสถานการณ์ทุกนาที เพื่อให้รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนางรัชฎาวรรณ วัฒนสุข หนึ่งในบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุการณ์สั่นสะเทือนรู้สึกตกใจและงุนงง แต่หลังทราบว่าเป็นแผ่นดินไหวก็ยิ่งตกใจหนัก กระทั่งหลังจากมหาวิทยาลัยมีการจัดระบบแจ้งเตือนผ่าน Google Chat แล้ว ทำให้รู้สึกอุ่นใจ เพราะได้รับข้อมูลรวดเร็วทันเหตุการณ์ พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับระดับความรุนแรงและวิธีการรับมือ โดยเห็นว่าเป็นระบบที่มีประโยชน์มาก และควรขยายให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย เพื่อให้เตรียมตัวได้ทันหากเกิดเหตุในพื้นที่อื่น

ทีมข่าวขอนแก่นลิงก์

Leave a Response

ใส่ความเห็น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง