คอลัมน์ “ รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
เปิดสถิติ…วัดของชาวพุทธ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น-บ้านเฮา จำนวน 1,548 แห่ง และเป็นพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดศรีจันทร์,วัดธาตุ และ วัดหนองแวง……..
**************
กรกฏา ฝนมาแล้ว….ตกต้องตามฤดูกาล พายุถล่มหลายลูก ฝมเม็ดเดียวกัน ช่างมีคุณค่าต่างกัน….คนกรุง ไม่ชอบฝน เพราะทำน้ำท่วม รถติด… แต่คนบ้านนอก ช้อบชอบ ต้นข้าวงอกงาม เขียวเต็มทุ่งนา พืชไร่ ได้น้ำ กบเขียด จับมาเป็นอาหาร และขายตลาด ได้หลายตังค์
ยุคพุทธกาล จึงเป็นกุศโลบาย เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน พระสงฆ์ ควรจำพรรษา อยู่ที่วัด ไม่ควรเดินทาง ออกไปเหยียบย่ำ ข้าวในนา ให้เสียหาย
จึงเป็นที่มาของประเพณี “เข้าพรรษา” ชาวพุทธ มีการถวายเครื่องอัฐบริขาร อาทิ ผ้าอาบน้ำฝน ธูปเทียน โดยเฉพาะ “เทียน” ยุคนั้น ยังไม่มีไฟฟ้าใช้งาน “เทียน” จึงเป็นแสงสว่าง ช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ในการศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติกิจวัตรต่างๆภายในวัด ตลอดระยะเวลา 3 เดือน
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบ ของงานประเพณี “แห่เทียนพรรษา” ปีนี้-2564 เป็นปีที่ 118 หมายถึงมีการเริ่ม เมื่อปี 2446 ยาวนาน กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ติดโปรแกรมระดับโลก ไปแล้ว
“เทียนพรรษา” เป็นเทียนขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ใช้สําหรับจุดในโบสถ์บูชาพระ ตั้งแต่วัน “เข้าพรรษา” จนถึงวัน “ออกพรรษา”
แม้ในวันนี้ จะมีไฟฟ้าสว่างไสว ทั่วไทย มีการถวายหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย กันแล้ว แต่ประเพณีการ “แห่เทียนพรรษา” ก็ยังคงสืบทอดกันเรื่อยมา
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานเทียนพรรษา เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2564 เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดธาตุ พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
การสืบทอดประเพณีของชาวพุทธ จึงเป็นการแสดงออก ผ่านประเพณีที่ชาวพุทธศรัทธาเสื่อมใส เป็นสุขใจ จังหวัดขอนแก่น- ของเฮา ปีนี้-2564 เป็นปีแรกที่ริเริ่ม ประเพณี “แห่เทียนพรรษา”
นอกจากนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น-ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ยังมีนโยบายในการสืบสานประเพณีของชาวพุทธ ผ่านงานพุทธศิลป์ ของเทียนพรรษา ด้วยขบวนเทียนจากหลายหน่วยงาน จำนวน 9 ขบวน แต่บ้านเมือง อยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขบวนเทียนจึงตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นสังกัด ชมทิพย์-ขบวนเทียนสวยงาม ไปพลางก่อนได้ และบันทึกเป็นประเดิมไว้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของเมือง
กุศลบุญจากการถวาย ”เทียนพรรษา” เป็นความเชื่อว่า “เทียน” จะช่วยให้ชีวิตสว่างไสวรุ่งเรือง พบเจอแต่เรื่องดีๆ วิกฤติต่างๆจะผ่านพ้น ไปได้ ด้วยพลังแห่งอธิฐานจิต เป็นพลังบวกที่ยิ่งใหญ่เสมอ…..
#โควิด-19 กี่รอบ กี่รอบ
เราจะรอดไปด้วยกัน
Leave a Response